วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เล่นนั้นสำคัญไฉน



การเล่นสำคัญต่อพัฒนาการเด็กหรือไม่

แน่นอนที่สุด การเล่นมีผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม อารมณ์ ร่างกาย หรือสติปัญญา  การเล่นเป็นหนทางของเด็กๆในการเรียนรู้ถึงร่างกายของตัวเอง โลกรอบๆตัว และการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ฉันรู้สึกอย่างไรเมื่อฉันสัมผัสกับวัตถุ  เวลาที่ฉันบีบเจ้าตุ๊กตาและมีเสียงอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นถ้าฉันดึง หรือดันชิ้นนี้  เอ๋ ลองปีนไม้นี้ดีหรือเปล่านะ?

การสำรวจเป็นหัวใจของการเล่น และไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าการที่เด็กๆได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ  ซึ่งรวมไปถึงการโยนอาหารออกจากจานข้าวด้วย  ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการมักจะพูดว่าการเล่นคืองานของเด็ก (และการเก็บกวาดของเล่นเป็นงานของผู้ปกครอง)

เมื่อเจ้าตัวน้อยของคุณโตมาเป็นช่วงวัยเดินเตาะแตะ  การเล่นก็จะยิ่งซับซ้อนและเต็มไปด้วยจินตนาการ  ด้วยการเล่นนี้เอง เจ้าตัวน้อยจะได้ฝึกทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นตัวของตนเอง ความคิดสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น และการแก้ปัญหา  การเล่นยังเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆจะได้แสดงความรู้สึก คุณค่า และพัฒนาทักษะทางสังคม  ก่อนที่เด็กๆจะพร้อมพอที่จะแบ่งของเล่นชิ้นโปรดให้กับน้องของตัว เด็กอาจจะยื่นให้กับตุ๊กตาก่อน  คำพูดอย่างเช่น ขอบคุณ อาจจะเกิดขึ้นในการเล่นบทบาทสมมติในงานเลี้ยงน้ำชา  และคงไม่มีผู้ปกครองคนไหนจะไม่ยอมเสียแผ่นพลาสเตอร์ดีๆเมื่อหนูน้อยบอกว่าตุ๊กตาหมีเจ็บ

แล้วเล่นแบบไหนดีที่สุดสำหรับลูกของเราล่ะ
การเล่นที่เหมาะสมนั้นขึ้นกับช่วงพัฒนาการของเด็ก  เพราะการเล่นคือเครื่องมือที่เด็กๆใช้ในการเรียนรู้โลกรอบตัว  ทักษะที่เขากำลังฝึกอยู่จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเลือกกิจกรรม  ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เด็กอายุ 12 เดือนและกำลังเรียนรู้เรื่องของเหตุและผล  คุณก็อาจจะเล่นซ่อนแอบง่ายๆเพียงด้วยเก้าอี้และโต๊ะ  แต่ถ้าหนูน้อยอายุ 20 เดือนและกำลังชอบปีนบันได คุณก็ต้องหาชุดปีนป่ายที่เขาสามารถฝึกฝนได้โดยที่คุณเฝ้าดูอยู่
นักบำบัดด้วยการเล่นอย่าง Catherine Marchant จาก Wheelock College มีคำแนะนำประเภทของการเล่นต่างๆ ในช่วงพัฒนาการต่างๆ ดังนี้

การเล่นทางสังคม
ในช่วงปีแรกนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณและผู้อื่นสำคัญมาก  หนูน้อยชอบยิ้ม มอง และหัวเราะ  ในขณะที่ทารกที่โตขึ้นจะชอบเกมพวกเล่นจ๊ะเอ๋ และเพลงแมงมุมน้อย

การเล่นกับวัตถุ
ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การกระแทก การใช้ปากสำรวจ การโยน การดัน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทดลองกับวัตถุใดๆ ก็นับได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับหนูน้อยวัย 4-10 เดือนแล้ว

การเล่นสมมติใช้งานอุปกรณ์
การเล่นสมมติการใช้งานวัสดุที่คล้ายกัน เช่น การดันของเล่นเครื่องตัดหญ้าบนพื้นหญ้า เป็นความสนุกของหนูน้อยวัย 12-21 เดือนที่จินตนาการกำลังก้าวไกล

การเล่นสมมติง่ายๆ
การเล่นแบบนี้สามารถทำให้หนูน้อย 2 ขวบเล่นได้ทุกอย่าง  อาจจะเปลี่ยนกล่องรองเท้าให้เป็นรถบัส พร้อมเสียงเครื่องยนต์ หรือ สมมติว่ากำลังทานโดนัทโดยใช้วงแหวนพลาสติกสมมติเอา

การเล่นบทบาทสมมติ
พออายุได้ 30-36 เดือน นักแสดงตัวน้อยของคุณกำลังเริ่มบทบาทใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเล่นเป็นคุณหมอ คุณครู หรือ แม้แต่คุณแม่

เล่นให้ได้ประโยชน์ที่สุดต้องทำอย่างไร

เน้นการเล่นมากกว่าแค่ให้เล่นกับของเล่น  การเล่นคือกิจกรรมสนุกใดๆที่ต้องเกี่ยวข้องกับคน วัตถุ หรือการเคลื่อนที่  จากการเป่า bubble ให้กันและกันไปถึงการร้องเพลง หรือ เล่นสาดน้ำในห้องน้ำ รวมถึง วิ่งไล่กันในห้อง ก็ถือว่าเป็นการเล่นคุณภาพทั้งนั้น  ถ้าคุณเคยเห็นเด็กหนึ่งขวบกำลังหลงใหลกับการเล่นกับกล่องกระดาษแข็ง คุณก็พอจะเข้าใจแล้วว่า การเล่นอย่างมีคุณภาพนั้นกว้างเพียงใด

เล่นไปกับลูกของคุณ  คุณคือส่วนประกอบในการเล่นที่ดีที่สุด  ไม่มีอะไรจะสนุกกว่าการที่เจ้าตัวน้อยได้สนุกกับคุณ  พูดคุยกับเด็กๆเพื่อช่วยเสริมทักษะด้านภาษาไปด้วยเลย

เล่นกับเด็กเวลาที่เจ้าตัวน้อยกำลังมีความสุขและพักผ่อนมาเพียงพอ  เป็นคำแนะนำจากนักจิตวิทยาพัฒนาการอย่าง Marilyn Segal ซึ่งแต่งหนังสือ Your Child at Play

หยุดเล่นเมื่อเด็กพอแล้ว  เด็กแต่ละคนมีจังหวะในการกระตุ้นที่แตกต่างกัน  ถ้าลูกของคุณแสดงอาการเบื่อ หงุดหงิด หรือเหนื่อย ก็แสดงว่าถึงเวลาพักแล้ว

เปิดโอกาสให้หนูน้อยได้เล่นทั้งกับเพื่อนๆ และเล่นคนเดียว  เพราะการเล่นทั้งสองอย่างมีประโยชน์เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกกิจกรรม และกำหนดทิศทางในการเล่น  คุณสามารถเสนอแนะสิ่งใหม่ๆ หรือเสนอทางเลือกได้ แต่คนที่เลือกต้องเป็นตัวเด็ก  อย่าลืมว่า การเล่นต้องสนุก และนั่นคือสิ่งที่ลูกของคนมีความเชี่ยวชาญ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น