วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

10 สิ่งที่เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับลูก ๆ ของเรา


AttributionNoncommercialShare Alike Some rights reserved by bespoke

10 สิ่งที่เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับลูก ๆ ของเรา 
เขียนโดย  แจน ฮันท์
แปลโดย แม่แอน 

1.  เราคาดหวังว่าลูก ๆ จะสามารถทำในสิ่งที่เขายังไม่พร้อมจะทำ
                เราคาดหวังให้ทารกไม่ร้องไห้  เราต้องการให้ลูกวัยสองขวบนั่งนิ่งอยู่กับที่  เราร้องขอให้เด็กวัยสี่ขวบทำความสะอาดห้องนอนของตัวเอง  และในสถานการณ์เหล่านี้ เรากำลังเพิกเฉยต่อความเป็นจริง  เรากำลังสร้างเงื่อนไขที่มีแต่จะนำไปสู่ความผิดหวัง และทำให้ลูกต้องเผชิญกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพื่อที่จะทำให้พ่อแม่พอใจ  ถึงกระนั้นก็ยังมีพ่อแม่จำนวนมากมายที่คาดหวังให้ลูก ๆ ของพวกเขาทำในสิ่งที่แม้แต่เด็กที่โตกว่าก็ยังทำได้ยาก  หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ  เรากำลังร้องขอให้เด็ก ๆ เลิกทำในสิ่งที่เป็นธรรมชาติตามวัยของพวกเขา

2.  เราโกรธเมื่อเด็กไม่สามารถทำในสิ่งที่เราต้องการ
                เด็กก็ทำได้แค่ในวิสัยเท่าที่เขาพึงจะทำได้  ถ้าเด็กไม่สามารถทำตามในสิ่งที่เราร้องขอ  การคาดหวังให้เด็กต้องทำให้ได้ ถือเป็นความไม่ยุติธรรมและไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และการมีอารมณ์โกรธเพียงเพราะสาเหตุนี้มีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง  เด็กวัยสองขวบก็คงจะทำได้แค่เท่าที่เด็กสองขวบจะทำได้  เด็กห้าขวบก็ไม่สามารถจะทำตัวให้เหมือนเด็กสิบขวบได้  และเด็กสิบขวบก็ไม่มีวันจะทำตัวให้เหมือนผู้ใหญ่ได้  การคาดหวังที่นอกเหนือจากนี้นอกจากจะเป็นเรื่องเพ้อฝันแล้วยังไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นอีกด้วย  เด็กมีขีดจำกัดในความสามารถของเขา และหากเราไม่เคารพขีดจำกัดนั้นก็มีแต่จะก่อให้เกิดความขุ่นข้องใจแก่ทั้งสองฝ่าย

3. เราไม่เชื่อใจในสาเหตุเบื้องหลังการกระทำของลูก
                หากลูกไม่ทำในสิ่งที่เราต้องการ  เราก็มักจะสรุปเอาเองว่าลูกดื้อ โดยที่ไม่ได้มองให้ชัดจากมุมมองของลูกก่อนที่จะตัดสินความจริงเบื้องหลังการกระทำนั้น ๆ  ในความเป็นจริง “เด็กดื้อ” คนนั้น อาจจะกำลังไม่สบาย  ง่วงนอน  หิว  เจ็บ หรือกำลังแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางกายหรือทางจิตใจที่เขาเผชิญ หรือแม่แต่กำลังพยายามต่อสู้กับสาเหตุอื่นที่เราไม่ทราบ เช่น ภาวะแพ้อาหาร เป็นต้น  กระนั้นเราก็ยังพยายามที่จะเพิกเฉยต่อความเป็นไปได้เหล่านี้เพียงเพราะเราอยากจะเชื่อในสาเหตุที่เลวร้ายที่สุดที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเช่นนั้น

4. เราไม่ยอมให้เด็กได้เป็นเด็ก
                เราหลงลืมไปว่าเราเป็นอย่างไรตอนเราเป็นเด็ก และคาดหวังให้เด็ก ๆ ของเราทำตัวให้เหมือนผู้ใหญ่แทนที่จะยอมรับเขาในการกระทำตามวัยของเขา  เด็กตามธรรมชาติจะต้องส่งเสียงดังอึกทึก  เก็บอารมณ์ไม่อยู่  และมีช่วงความสนใจสั้น  สิ่งต่าง ๆ ที่เราคิดว่าเป็น “ปัญหา” เหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่ใช่ปัญหาเลยสักนิด  หากแต่เป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเด็กปกติ  ในทางตรงกันข้าม สังคมของเราที่คาดหวังพฤติกรรมสมบูรณ์แบบนั่นต่างหากเล่าที่เป็นสิ่งที่ไม่ปกติ

5. เราเข้าใจกลับกันไปหมด
                เราคาดหวังให้เด็กให้ในสิ่งที่เราต้องการ เราต้องการความเงียบสงบ  ต้องการนอนหลับในตอนกลางคืนที่ไม่ถูกลูกตื่นขึ้นมารบกวน  ต้องการการเชื่อฟังและอยู่ในโอวาท และอื่น ๆ อีกมากมาย  แทนที่จะยอมรับในบทบาทหน้าที่ของตนเองในฐานะพ่อแม่และพยายามตอบสนองในความต้องการของลูก เรากลับเรียกร้องให้ลูกต้องมาแบกรับภาระตอบสนองต่อสิ่งที่เราต้องการ  บางครั้งเราก็จดจ่ออยู่กับแค่ความต้องการของตนเองและไม่พอใจเมื่อลูกไม่ตอบสนองต่อความต้องการนั้นจนกระทั่งหลงลืมไปว่าลูกก็เป็นเพียงเด็กน้อยคนหนึ่งที่มีความต้องการของตัวเขาเองเช่นกัน

6. เราตำหนิและวิจารณ์ในยามที่ลูกทำผิด 
                ลูกมีประสบการณ์ชีวิตที่น้อยเหลือเกิน  และแน่นอนว่าเขาจะต้องทำผิดพลาดบ้าง  ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใดก็ตาม  แต่แทนที่เราจะเข้าใจและช่วยเหลือเขา  เรากลับตำหนิราวกับว่าเด็ก ๆ ควรจะต้องเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จสมบูรณ์แบบได้ในครั้งแรก  การทำความผิดพลาดถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์  การทำความผิดพลาดในวัยเด็กยิ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาและหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียด้วยซ้ำ  กระนั้น เราก็ยังปฏิบัติต่อการทำความผิดพลาดและการฝ่าฝืนกฏราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจและชวนผิดหวังยิ่งนัก  มันช่างไร้เหตุผลหากเราจะบอกว่าเราเข้าใจดีว่าเด็ก ๆ จะต้องทำเรื่องผิดพลาดบ้าง ในขณะที่เราก็ยังคิดว่าเด็ก ๆ ก็ควรจะมีความประพฤติที่สมบูรณ์แบบอยู่ตลอดเวลา

7. เราหลงลืมไปว่าคำตำหนิและวิจารณ์นั้นทำร้ายจิตใจเด็กได้มากเพียงใด
พ่อแม่จำนวนมากมายเข้าใจดีว่าการตีหรือการทำร้ายลูกทางกายนั้นเป็นสิ่งไม่ดีและทำให้ลูกเจ็บปวด  แต่เราทั้งหลายก็ยังคงลืมไปว่าคำพูดที่เต็มไปด้วยโทสะ การพูดจาดูถูก แดกดัน และคำตำหนินั้นสามารถทำร้ายจิตใจให้ลูกเจ็บปวดได้มากเพียงใด โดยเฉพาะกับเด็กที่เชื่อว่าทุกอย่างย่อมเป็นความผิดของเขาเองอยู่แล้ว

8. เราหลงลืมไปว่าการแสดงออกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักมีอำนาจเยียวยาได้มากเพียงใด
พ่อแม่จำนวนมากหลงเข้าไปอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการตำหนิเมื่อพฤติกรรมแย่  แทนที่จะหยุดสักนิดเพื่อให้ความรัก ให้ความมั่นใจ ให้ความภาคภูมิใจ และความมั่นคงปลอดภัยแก่ลูกน้อยด้วยการกอดและคำพูดอันอ่อนโยน

9. เราลืมไปว่าการกระทำของเราคือคำสอนที่ดีที่สุดสำหรับลูก
                ความจริงแล้วสิ่งที่ลูกจะจดจำขึ้นใจหาใช่สิ่งที่เราพร่ำสอนไม่ หากแต่เป็นสิ่งที่เราทำเป็นตัวอย่าง  พ่อแม่ที่ทำโทษลูกด้วยการตีเพราะลูกตีผู้อื่นแล้วพร่ำสอนลูกว่าการตีนั้นเป็นสิ่งไม่ดี  แท้ที่จริงแล้วกำลังสอนให้ลูกเชื่อว่าการตีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำได้สำหรับผู้ที่มีอำนาจ  พ่อแม่ที่รับมือกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยท่าทีที่สงบต่างหากเล่าจึงจะสั่งสอนให้ลูกโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่รักสงบ  ปัญหาต่าง ๆ ล้วนเปิดโอกาสให้เราได้สอนคุณค่าให้กับลูกของเรา เพราะเด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาได้เผชิญกับมันในชีวิตจริง

10. เรามองเห็นเฉพาะพฤติกรรมภายนอกของลูก แทนที่จะเป็นความรักและความตั้งใจดีที่อยู่ภายใน
                เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่แย่ ในฐานะพ่อแม่เหนือสิ่งอื่นใดเราควรที่จะ ”มองลูกในแง่ดีที่สุด” ไว้ก่อน  เราควรจะเชื่อมั่นว่าลูกมีความตั้งใจที่ดีและพยายามประพฤติตัวดีที่เท่าที่เขาจะสามารถทำได้แล้วในสถานการณ์นั้น ๆ (ที่อาจเห็นได้ชัดหรือไม่ก็ตาม) ด้วยระดับประสบการณ์ชีวิตที่เขามีอยู่  เมื่อเรามองลูกในแง่ดีเสมอแล้ว ลูกก็จะเป็นอิสระที่จะทำในสิ่งที่ดี หากเราให้แต่ความรัก  เราก็จะได้รับแต่ความรักตอบกลับมาเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น